วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

วารสารชมรมศิษย์โกมารภัจจ์ ฉบับ เดือนตุลาคม 2553 SITGOMARAPHAT JOURNALS OCTOBER,1 2010

วารสารชมรมศิษย์โกมารภัจจ์ ฉบับเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๓

ทักทาย
           เดือนตุลาคมนี้ เป็นเดือนที่สมาชิกหลายท่านที่เป็นเกษตรกรใน จ.อ่างทอง และ จ.นนทบุรี ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมที่ไหลสะสมจากภาคเหนือลงมายังภาคกลาง ทำให้พืชสวน ไร่นา เสียหายเป็นอย่างมาก ทางชมรมฯ จึงมีโครงการจะนำเงินส่วนหนึ่งจากการออกบูธกิจกรรมของชมรมส่งให้กับเพื่อนสมาชิกของเราอีกด้วย โดยระหว่างวันที่ ๑-๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ทางชมรมได้รับเชิญจากทีมงาน Pro Exhibition Planner ไปจัดกิจกรรมนิทรรศการสมุนไพรที่ด้านหน้าประตูทางเข้า ชั้น G ลานน้ำพุ ห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ งาน Good Helth  Good life ภายในงานชมรมได้นำสมุนไพรที่ใช้เหง้าในการแพร่พันธุ์มาจัดแสดงให้ผู้เข้าชมงานได้ศึกษา และแจกจ่ายพันธุ์ไม้สมุนไพร เช่น หัวเหง้าขมิ้นชัน ยาหอม เป็นยาที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณซึ่งในอดีตนั้นได้ถูกบรรจุให้เป็นยาสามัญประจำบ้านในต้นรัชกาลที่ ๕ มีสรรพคุณในการบำรุงหัวใจ จากเกสรดอกไม้หลากหลายชนิด พร้อมทั้ง หัวโกฐชนิดต่าง ๆ ที่บดผสมรวมกันเป็นยาหอมคุณภาพชั้นดี น่าสนใจไม่น้อยเลยใช่ไหมคะ และ อีกสถานที่หนึ่งคือ บริเวณหน้าอาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ เขตปทุมวัน ด้านข้างศูนย์การค้ามาบุญครอง (MBK CENTER) ฝั่งโตคิว  ในงาน ไทยกิน ไทยใช้ ไทยซื้อ ท่านสามารถเลือกซื้ออาหาร และสินค้าดีราคาถูกได้ภายในงาน อีกทั้งทางชมรมฯ ได้มีบริการนวดแผนไทย และนวดฝ่าเท้า กดจุดสะท้อนบริการให้กับเพื่อนสมาชิกอีกด้วยค่ะ
          คุณค่าของสมุนไพรดี ๆ ในเดือนตุลาคมนี้ ที่ทางชมรมนำมาฝากกันในช่วงที่มีน้ำท่วมขัง ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ มากมาย อาทิเช่น เชื้อราจากน้ำกัดเท้า เชื้อราในร่มผ้า และความสะอาดในเรื่องสุขอนามัย การบริโภค และการขับถ่าย ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมนั้น จะมีความเสี่ยงในเรื่องปัญหาสุขภาพดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นค่ะ จึงอยากให้สมาชิกทุกท่านที่อยู่ในเขตอุทกภัยโปรดรักษาสุขอนามัยของท่านให้สะอาด และบริโภคแต่ของที่ผ่านการปรุงอย่างถูกหลักอนามัย โดยเฉพาะการดื่มน้ำที่สะอาดมีภาชนะปิดอย่างมิดชิด เพื่อป้องกันโรคท้องร่วงที่มักจะแพร่ระบาดได้ในช่วงน้ำท่วม สมุนไพรที่น่าสนใจในช่วงนี้   ขมิ้นชัน และ ฟ้าทะลายโจร สมุนไพรทั้ง ๒ ชนิดนี้ มีตัวยาที่สำคัญในการรักษาโรคทางด้านเชื้อรา โดยใช้ขมิ้นชันในทาลงไปบริเวณที่เป็นเชื้อรา สารจากขมิ้นชันจะช่วยให้ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราได้เป็นอย่างดีค่ะ อีกทั้งขมิ้นชัน ยังช่วยให้ระบบขับถ่ายเป็นปกติ ช่วยเจริญอาหาร และช่วยกระเพาะอาหารในการย่อย ขับลม ลดอาการแน่น จุก เสียด ลดอาการคลื่นไส้อาเจียนในกลุ่มคนไข้ที่ได้รับการฉายแสงหรือใช้เคมีบำบัดโรค  ส่วนฟ้าทะลายโจร ทานแล้วจะช่วยสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย และสามารถแก้ไข้หวัดได้อีกด้วย เนื่องจากอากาศที่ชื้น และฝนตกชุก จะนำพาไข้หวัดมาพร้อมกันด้วย และฟ้าทะลายโจรยังมีสรรพคุณช่วยลดเบาหวาน อีกด้วยค่ะ
          สุดท้ายนี้ ทางชมรมขอฝากส่งกำลังใจให้กับเพื่อนสมาชิกที่กำลังประสบปัญหาน้ำท่วมไร่นา พืชสวนเกษตรเสียหาย ขอให้มีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่เข้มแข็ง โดยเราจะคอยติดตามมาตรการช่วยเหลือจากทางรัฐบาล และส่งข่าวสารที่จำเป็นให้กับเพื่อนสมาชิกอีกทางหนึ่งด้วย  แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าค่ะ / สวัสดีค่ะ
         

ขมิ้นชัน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma longa L.
ชื่อสามัญ : Turmaric
วงศ์ : Zingiberaceae
ชื่ออื่น : ขมิ้น (ทั่วไป) ขมิ้นแกง ขมิ้นหยอก ขมิ้นหัว (เชียงใหม่) ขี้มิ้น หมิ้น (ภาคใต้)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก อายุหลายปี สูง ๓๐-๙๐ ซม. เหง้าใต้ดินรูปไข่มีแขนงรูปทรงกระบอกแตกออกด้านข้าง ๒ ด้าน ตรงกันข้ามเนื้อในเหง้าสีเหลืองส้ม มีกลิ่นเฉพาะ ใบ เดี่ยว แทงออกมาเหง้าเรียงเป็นวงซ้อนทับกันรูปใบหอก กว้าง ๑๒-๑๕ ซม. ยาว ๓๐-๔๐ ซม. ดอก ช่อ แทงออกจากเหง้า แทรกขึ้นมาระหว่างก้านใบ รูปทรงกระบอก กลีบดอกสีเหลืองอ่อน ใบประดับสีเขียวอ่อนหรือสีนวล บานครั้งละ ๓-๔ ดอก ผล รูปกลมมี ๓ พู
ส่วนที่ใช้ : เหง้าแก่สด และแห้ง
สรรพคุณ :
  • เป็นยาภายใน
  • - แก้ท้องอืด
  • - แก้ท้องร่วง
  • - แก้โรคกระเพาะ
  • เป็นยาภายนอก
  • - ทาแก้ผื่นคัน โรคผิวหนัง พุพอง
  • - ยารักษาชันนะตุและหนังศีรษะเป็นเม็ดผื่นคัน
วิธีและปริมาณที่ใช้
  • เป็นยาภายใน
  • เหง้าแก่สดยาวประมาณ ๒ นิ้ว เอามาขูดเปลือก ล้างน้ำให้สะอาด ตำให้ละเอียด เติมน้ำ คั้นเอาแต่น้ำ รับประทานครั้งละ ๒ ช้อนโต๊ะ วันละ ๓-๔ ครั้ง
  • เป็นยาภายนอก
  • เหง้าแก่แห้งไม่จำกัดจำนวน ป่นให้เป็นผงละเอียด ใช้ทาตามบริเวณที่เป็นเม็ดผื่นคัน โดยเฉพาะในเด็กนิยมใช้มาก




ฟ้าทะลายโจร

ชื่อวิทยาศาสตร์   Andrographis paniculata (Burm.f.) Wall.ex Nees
ชื่อสามัญ   Kariyat , The Creat
วงศ์  ACANTHACEAE
ชื่ออื่น :  หญ้ากันงู (สงขลา) น้ำลายพังพอน ฟ้าละลายโจร (กรุงเทพฯ) ฟ้าสาง (พนัสนิคม) เขยตายยายคลุม สามสิบดี (ร้อยเอ็ด) เมฆทะลาย (ยะลา) ฟ้าสะท้าน (พัทลุง)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ล้มลุก สูง ๓๐-๗๐ ซม. ทุกส่วนมีรสขม กิ่งเป็นใบสี่เหลี่ยม ใบ เดี่ยว แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ดอก ช่อ ออกที่ปลายกิ่งและซอกใบ ดอกย่อย กลีบดอกสีขาว โคนกลีบติดกัน ปลายแยก ๒ ปาก ปากบนมี ๓ กลีบ มีเส้นสีม่วงแดงพาดอยู่ ปากล่างมี ๒ กลีบ ผล เป็นฝัก เมื่อแก่เป็นสีน้ำตาล แตกได้ ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก
ส่วนที่ใช้ :  ทั้งต้น ใบสด ใบแห้ง ใบจะเก็บมาใช้เมื่อต้นมีอายุได้ ๓-๕ เดือน 
สรรพคุณ
     มี ๔ ประการคือ
1.      แก้ไข้ทั่ว ๆ ไป เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่
2.       ระงับอาการอักเสบ  พวกไอ เจ็บคอ คออักเสบ ต่อมทอนซิล หลอดลมอักเสบ ขับเสมหะ รักษาโรคผิวหนังฝี
3.      แก้ติดเชื้อ พวกทำให้ปวดท้อง ท้องเสีย บิด และแก้กระเพาะลำไส้อักเสบ
4.      เป็นยาขมเจริญอาหาร
     และการที่ฟ้าทะลายโจรมีสรรพคุณ ๔ ประการนี้ จึงชวนให้เห็นว่าตัวยาต้นนี้ เป็นยาที่สามารถนำไปใช้กว้างขวางมาก จากเหตุผลที่ฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ระงับการติดเชื้อหรือระงับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์
       ใบฟ้าทะลายโจร มีสารเคมีประกอบอยู่หลายประเภท แต่ที่เป็นสาระสำคัญในการออกฤทธิ์ คือ สารกลุ่ม Lactone คือ
๑.      สารแอดโดรกราโฟไลด์ (andrographolide)
๒.    สารนีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (neo-andrographolide)
๓.    ๑๔-ดีอ๊อกซี่แอนโดรกราโฟไลด์ (14-deoxy-andrographolide)
       ฟ้าทะลายโจรเป็นยาเก่าแก่ของประเทศจีน ที่ใช้ในการแก้ฝี แก้อักเสบ และรักษาโรคบิด การวิจัยด้านเภสัชวิทยาพบว่า ฟ้าทะลายโจรสามารถยับยั้ง เชื้อแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุของการเป็นหนองได้ และมีการศึกษาวิจัยของโรงพยาบาลบำราศนราดูร ถึงฤทธิ์ในการรักษาโรคอุจจาระร่วงและบิด แบคทีเรีย เปรียบเทียบกับ เตตราซัยคลิน ในผู้ป่วย ๒๐๐ ราย อายุระหว่าง ๑๖-๕๕ ปี ได้มีการเปรียบเทียบระยะเวลาที่ถ่ายอุจจาระเหลว จำนวนอุจจาระเหลว น้ำเกลือที่ให้ทดแทนระหว่างฟ้าทะลายโจรกับเตตราซันคลิน พบว่าสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ลดจำนวนอุจจาระร่วงและจำนวนน้ำเกลือที่ให้ทดแทนอย่างน่าพอใจ แม้ว่าจากการทดสอบทางสถิติ จะไม่มีความแตกต่างโดยในสำคัญก็ตาม ส่วนการลดเชื้ออหิวาตกโรคในอุจจาระ ฟ้าทะลายโจรไม่ได้ผลดีเท่าเตตราซัยคลิน นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลชุมชนบางแห่งได้ใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาอาการเจ็บคอได้ผลดีอีกด้วย มีฤทธิ์เช่นเดียวกับเพ็นนิซิลินเมื่อเทียบกับยาแผนปัจจุบัน เท่ากับเป็นการช่วยให้มีผู้สนใจทดลองใช้ยานี้รักษาโรคต่าง ๆ มากขึ้น
วิธีและปริมาณที่ใช้
       1.      ถ้าใช้แก้ไข้เป็นหวัด ปวดหัวตัวร้อน
ใช้ใบและกิ่ง ๑ กำมือ (แห้งหนัก ๓ กรัม สดหนัก ๒๕ กรัม) ต้มน้ำดื่มก่อนอาหารวันละ ๒ 
ครั้ง เช้า-เย็น หรือเวลามีอาการ
       2.      ถ้าใช้แก้ท้องเสีย ท้องเดิน เป็นบิดมีไข้
ใช้ทั้งต้นหรือส่วนทั้ง ๕ ของฟ้าทะลายโจร ผึ่งลมให้แห้ง หั่นชิ้นเล็ก ๆ ประมาณ ๑ กำมือ
(หนักประมาณ ๓-๙ กรัม) ต้มเอาน้ำดื่มตลอดวัน
ตำรับยาและวิธีใช้
       .      ยาชงมีวิธีทำดังนี้
          -     เอาใบสดหรือแห้งก็ได้ ประมาณ ๕-๗ ใบ แต่ใบสดจะดีกว่า
          -     เติมน้ำเดือดลงจนเกือบเต็มแก้ว
         -      ปิดฝาทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง หรือพอยาอุ่น แล้วรินเอามาดื่ม ขนาดรับประทาน
ครั้งละ ๑ แก้ว วันละ ๓-๔ ครั้ง ก่อนอาหาร, ก่อนนอน
     .      ยาเม็ด (ลูกกลอน) มีวิธีทำดังนี้
         -     เด็ดใบสดมาล้างให้สะอาดผึ่งในที่ร่ม ห้ามตากแดด ควรผึ่งในที่มีลมโกรก ใบจะได้
แห้งเร็ว
        -      บดเป็นผงให้ละเอียด
        -      ปั้นกับน้ำผึ้ง หรือน้ำเชื่อม เป็นเม็ดขนาดเท่าเม็ดถั่วเหลือง (หนัก ๒๕๐ มิลลิกรัม)
แล้วผึ่งลมให้แห้ง เพราะถ้าปั้นรับประทานขณะที่ยังเปียกอยู่จะขมมาก ขนาดรับประทานครั้งละ  ๔-๑๐ เม็ด วันละ ๓-๔ ครั้ง ก่อนอาหาร, ก่อนนอน
     .      แคปซูล มีวิธีทำคือ
            แทนที่ผงยาที่ได้จะปั้นเป็นยาเม็ด กลับเอามาใส่ในแคปซูล เพื่อช่วยกลบรสขมของยา แค๊ปซูล ที่ใช้ ขนาดเบอร์ ๒ (ผงยา ๒๕๐ มิลลิกรัม) ขนาดรับประทานครั้งละ ๓-๕ แคปซูล วันละ ๓-๔ ครั้ง ก่อนอาหาร ก่อนนอน
     .      ยาทิงเจอร์หรือยาดองเหล้า
           เอาผงแห้งใส่ขวด แช่สุราที่แรง ๆ เช่น สุราโรง  ๔๐ ดีกรี ถ้ามี alcohol ที่รับประทานได้ (Ethyl alcohol) จะดีกว่าเหล้า แช่พอให้ท่วมยาขึ้นมาเล็กน้อย ปิดฝาให้แน่น เขย่าขวดวันละ  ๑ ครั้ง พอครบ ๗ วัน จึงกรองเอาแต่น้ำ เก็บไว้ในขวดให้สะอาดปิดสนิท รับประทานครั้งละ ๑-๒ ช้อนโต๊ะ (รสขมมาก) วันละ ๓-๔ ครั้ง
     .      ยาผงใช้สูดดม
           คือเอายาผงที่บดละเอียด มาใส่ขวดหรือกล่องยา ปิดฝาเขย่าแล้วเปิดฝาออก ผงยาจะเป็นควันลอยออกมา สูดดมควันนั้นเข้าไป ผงยาจะติดที่คอทำให้ยาไปออกฤทธิ์ที่คอโดยตรง ช่วยลดเสมหะ และแก้เจ็บคอได้ดี วิธีที่ดีกว่านี้คือวิธีเป่าคอ กวาดคอ หรือรับประทานยาชง ตรงที่คอจะรู้สึกขมน้อยมาก ไม่ทำให้ขยาดเวลาใช้ ใช้สะดวกและง่ายมาก ประโยชน์ที่น่าจะได้รับเพิ่มก็คือ ผงยาที่เข้าไปทางจมูก อาจจะช่วยลดน้ำมูก และช่วยฆ่าเชื้อที่จมูกด้วย
ขนาดที่ใช้
        สูดดมบ่อย ๆ วันละหลาย ๆ ครั้ง ถ้ารู้สึกคลื่นไส้ให้หยุดยาไปสักพัก จนความรู้สึกนั้นหายไป จึงค่อยสูดใหม่
ข้อควรรู้เกี่ยวกับตำรับยา
       สารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) สารในต้นฟ้าทะลายโจร ละลายในแอลกอฮอร์ได้ดีมาก ละลายในน้ำได้น้อย ดังนั้นยาทิงเจอร์ หรือยาดองเหล้าฟ้าทะลายโจร จึงมีฤทธิ์แรงที่สุด ยาชงมีฤทธิ์แรงรองลงมา ยาเม็ดมีฤทธิ์อ่อนที่สุด
ข้อควรระวัง
      บางคนรับประทาน ยาฟ้าทะลายโจร จะเกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย ปวดเอว เวียนหัว แสดงว่าแพ้ยา ให้หยุดยา และเปลี่ยนไปใช้ยาอื่น หรือลดขนาดรับประทานลง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น