ทักทาย
สวัสดีเพื่อนสมาชิกชมรมศิษย์โกมารภัจจ์ทุกท่าน เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางชมรมฯ ได้จัดกิจกรรม นวดฝ่าเท้า เพื่อนำรายได้สมทบทุนร่วมกับวัดพระบาทน้ำพุ เนื่องในวันมาฆบูชา บริเวณสวนลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ และยังมีน้ำดื่มบริการให้กับญาติธรรม เพื่อนสมาชิกที่แวะมาเยี่ยมชมการจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติของหมอชีวกโกมารภัจจ์ พร้อมทั้งแจกคาถาบูชาองค์ปู่ชีวกโกมารภัจจ์ให้กับผู้ที่สนใจบูชาอีกด้วย
และเช่นเคยค่ะ ชมรมฯ ก็ได้นำความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรที่น่าสนใจมาฝากกันในเดือนกุมภาพันธ์นี้ คือ เหงือกปลาหมอ ที่ทางทีมงานมีความสนใจเป็นพิเศษจึงนำมาเสนอให้กับเพื่อนสมาชิกในฉบับนี้ เนื่องจากมีเพื่อนสมาชิกบางท่านได้นำไปใช้ในการลดอาการผื่นแดงของลูกชายซึ่งอาการดังกล่าวเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ และพบว่าอาการดีขึ้นเป็นอย่างมาก จึงได้มีโอกาสค้นหาข้อมูลบางส่วนจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ และจากตำราสมุนไพร นำมาฝากกันค่ะ
หากพูดถึงพรรณไม้ พรรณไม้ที่ชื่อ เหงือกปลาหมอ มีอยู่ในพื้นที่ชายน้ำในจังหวัดสมุทรปราการ เป็นที่ประจักษ์ว่ามีอยู่ดาษดื่นจริง เช่น อยู่ริมน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก เหนือปากคลองมหาวงษ์และโรงเรียนนายเรือขึ้นไปเล็กน้อย มีต้นเหงือกปลาหมอขึ้นอยู่มากมายที่ชายฝั่งน้ำลำคลอง ปากคลองจรดแม่น้ำเจ้าพระยา ลักษณะทั่วไปของเหงือกปลาหมอนั้น มีลำต้นแข็ง มีหนามตามข้อ หากเป็นต้นที่ขึ้นและเจริญเติบโตตามธรรมชาติ มีลักษณะเป็นปกติตามธรรมชาติอยู่เองแล้วลำต้นจะตรงเป็นลำเดี่ยวพุ่งสูงขึ้น
แต่หากมีการตัดไปใช้ประโยชน์หรือถูกแผ้วถางไปบ้าง ก็จะแตกเป็นพุ่มได้เหมือนกัน ขนาดของพุ่มเป็นพุ่มขนาดกลาง ใบหนา-แข็ง ที่ริมใบและปลายใบมีหนามแหลม ขอบใบเว้าเป็นระยะๆ ส่วนที่ยื่นแหลมออกไปนั่นเองที่ปรากฏหนามแหลมอยู่ทุกระยะ ออกดอกเป็นช่อสีขาว หรือสีม่วง ติดผลเป็นฝักสีน้ำตาล ปลาย ฝักป้าน ฝักหนึ่งมีเมล็ด ๔ เมล็ด พื้นที่ที่เหงือกปลาหมอชอบขึ้นคือ พื้นดินเลนและตลิ่งชายคลอง หรือพื้นที่ซึ่งน้ำเค็ม หรือน้ำกร่อยขึ้น-ลงถึงพื้นที่ โดยสรุปคือชอบขึ้นชายฝั่งคลอง ชายฝั่งแม่น้ำที่มีน้ำเค็ม-น้ำกร่อยขึ้นถึง
อีกทั้งประโยชน์ของเหงือกปลาหมอยังเป็นสมุนไพรใกล้ตัว หรือเรียกว่าสมุนไพรชายน้ำ สมุนไพรชายเลนก็ได้ ใช้บำบัดรักษาโรคได้นานาชนิด มากมายหลายลักษณะของโรค และการใช้ส่วนต่างๆ ของเหงือกปลาหมอ เช่น ราก มีสรรพคุณในการแก้โรคหืด อัมพาต แก้ไอ และใช้ขับเสมหะ ต้น มีสรรพคุณรักษาโรคหลายชนิด โดยใช้ต้นตำผสมน้ำดื่มรักษาวัณโรค อาการซูบผอม ถ้าใช้ทาก็ช่วยแก้โรคเหน็บชาได้ หรืออาจใช้ลำต้นไปผสมกับสมุนไพรอื่นๆ ก็จะได้สรรพคุณทางยาแตกต่างกันออกไปอีก
เหงือกปลาหมอยังมีสรรพคุณเฉพาะ คือ ทั้งต้นรวมรากต้มอาบแก้พิษไข้หัวลม แก้โรคผิวหนังทุกชนิด ทั้งต้นสดตำพอกปิดหัวฝีแผลเรื้อรังถอนพิษ ต้มกินแก้พิษฝีดาษ ฝีทั้งปวง ผล กินเป็นยาขับโลหิตระดู นอกจากนั้น ถ้าตาเจ็บ ตาแดง เอา "เหงือกปลาหมอ" ทั้งต้นตำกับขิงคั้นเอาน้ำหยอดตาหาย เป็นเหน็บชา ชาทั้งตัว ทั้งต้นตำทาบริเวณที่เป็นจะดีขึ้น ถูกงูกัด ตำเอาน้ำกินกากพอกหาย เป็นฝีฟกบวม เอาต้นกับขมิ้นอ้อยตำทา เป็นริดสีดวงทวาร เอาต้นกับขมิ้นอ้อยตำละลายกับน้ำทา เป็นไข้จับสั่นตำกับขิงกิน โรคเรื้อน คุดทะราด ทั้งต้นตำเอาน้ำกิน และใบส้มป่อยต้มดื่ม เจ็บหลัง เจ็บเอว เอาต้น "เหงือกปลาหมอ" กับชะเอมเทศตำผงละลายน้ำผึ้งปั้นเป็นก้อนกิน ริดสีดวงแห้งในท้อง ซูบผอมเหลืองทั้งตัว ทั้งต้นตำเป็นผงกินทุกวัน เป็นริดสีดวง มือตายตีนตาย ร้อนทั้งตัว เวียนหัว ตามัว เจ็บระบมทั้งตัว ตัวแห้ง เอา "เหงือกปลาหมอ" กับเปลือกมะรุมเท่ากันใส่หม้อ เกลือนิดหน่อย หมาก ๓ คำ เบี้ย ๓ ตัว วางบนปากหม้อ ใช้ฟืน ๓๐ ดุ้น ต้มกับน้ำจนเดือดให้งวดจึงยกลง กลั้นใจกินขณะอุ่นจนหมดจะหายได้ จะเห็นได้ว่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นสรรพคุณของเหงือกปลาหมอพรรณไม้สารพัดประโยชน์ที่มีอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น